21 / 03 / 2024
กราเวลไบค์ จักรยานยุค Gen Z

กราเวลไบค์ จักรยานยุค Gen Z

Gravel Bike Revolution – กราเวลไบค์กับการปฎิวัติจักรยาน

“จักรยาน” คือยานพาหนะนวัตกรรมปฏิวัติโลกที่เกิดขึ้นเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ได้เปลี่ยนชีวิตผู้คนไปมากมาย ทุกเพศทุกวัย เกิดเป็นวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ๆ เป็นส่วนต่อเติมธุรกิจ เป็นอาชีพ เป็นไลฟ์สไตล์ และกลายเป็นพาหนะที่ความสำคัญต่อชาวโลกมาจนทุกวันนี้

“ภาพจาก cyclinside.it”

จาก 200 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ ส่วนประกอบหลักๆ ของจักรยานยังเหมือนเดิมคือ มีสองล้อ มีแฮนด์จับควบคุม และยังต้องใช้สองขาปั่น ว่ากันจริงๆ จักรยานทุกวันนี้มีมากกว่าสิบแบบ เช่น เสือหมอบ เสือภูเขา จักรยานพับ จักรยานทัวริ่ง จักรยานสองตอน (Tandem Bike) จักรยานไตรกีฬา จักรยานไซโคลครอส (Cyclocross) จักรยานไฟฟ้า EV และอีกมากมาย เรียกว่ามีจักรยานใหม่ๆ เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุค Baby Boomer เรื่อยมา Gen X, Gen Y ก็มี และยุค Gen Z นี้ ก็มีจักรยานเกิดใหม่เช่นกัน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและถูกพูดถึงกันมากที่สุดนั่นคือ กราเวลไบค์ (Gravel Bike)

Cervélo Áspero-5

3T Ultra

Mix & Match

จักรยานเสือภูเขาและเสือหมอบ คนส่วนใหญ่คงรู้จักและคุ้นเคยกันดี แต่จักรยานกราเวลไบค์ ถ้าไม่ใช่คนที่ติดตามข่าวสาร คงงงว่ามันคือจักรยานอะไร ถ้าเข้าใจง่ายๆ ก็คือการนำจักรยาน 2 สายพันธุ์มาผสมรวมกัน ระหว่างเสือหมอบกับเสือภูเขา ดูคล้ายกับจักรยานไซโคลครอสแต่ไม่เหมือน ดูเผินๆ ว่าคล้ายกับการ นำจักรยานเสือหมอบมาถ่างตะเกียบหน้า-หลัง แล้วใส่ยางเสือภูเขาเข้าไป ใช่.. โดยคอนเซ็ปต์ เพราะกราเวลไบค์นั้นต่อยอดมาจากเสือหมอบ แต่ทำให้ปั่นบนทางกรวดและทางทุรกันดารได้ดีนั่นเอง

แต่กราเวลไบค์ก็ไม่ใช่แค่การนำเสือหมอบมาถ่างตะเกียบแล้วใส่ล้อและยางของเสือภูเขาเข้าไป จริงอยู่ที่จักรยานกราเวลไบค์หลายรุ่นสามารถนำล้อและยางของเสือภูเขา 650b มาใส่ได้เลย และในมุมกลับกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำเสือภูเขามาใส่แฮนด์ดรอปของเสือหมอบแล้วมันจะกลายเป็นกราเวลไบค์ได้

Gravel Bike VS Cyclocross

กราเวลไบค์กับไซโคลครอสนั้น ถ้าเราจับจักรยาน 2 ประเภทนี้มาวางเปรียบเทียบกัน คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักปั่นจักรยานนั้น ไม่ง่ายเลยที่จะแยกออก เพราะทั้งตัวเฟรมและส่วนประกอบประกอบต่างๆ ใกล้เคียงกันมาก แต่ถ้ารู้ข้อกำหนดเพียงจุดเดียวนั่นคือ ขนาดความกว้างของยาง สืบเนื่องมาจากจักรยานไซโคลครอสนั้นนิยมใช้เพื่อการแข่งขัน โดยมีสมาคมจักรยานนานาชาติ (UCI) รองรับอย่างเป็นทางการ ดังนั้นข้อกำหนดของไซโคลครอสที่สำคัญคือ ต้องใช้ยางที่มีความกว้างได้ไม่เกิน 700x33c เท่านั้น ส่วนกราเวลไบค์นั้นไม่มีข้อกำหนดใดๆ ใครใส่ยางใดๆ ก็ได้ตามใจปรารถนา อีกข้อสำคัญคือ กราเวลไบค์นั้น จะมีความยาวฐานล้อที่ยาวกว่าเสือหมอบและไซโคลครอส เพื่อความเสถียรและการควบคุมที่ง่ายขึ้น เพื่อการปั่นในความแตกต่างและหลากหลายตามแต่ละภูมิประเทศ เช่น ทางกรวด ชายป่า ทางทุรกันดาร หรือแม้แต่การนำไปทัวริ่งแค้มปิ้ง ไบค์แพ้คกิ้ง ที่ปั่นกันนานๆ หลายๆ วัน จึงต้องขยายตะเกียบล้อหน้าและล้อหลังให้กว้างขึ้น เพื่อให้รองรับกับหน้ายางที่กว้างขึ้น และมีการปรับองศาของตัวเฟรมเพื่อทำให้ควบคุมได้ง่ายและปั่นได้สบายมากขึ้น

Cervélo R5-CX Cyclocross

ชุดเกียร์ผสมข้ามพันธ์

นอกจากเฟรมจักรยาน สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ชุดเกียร์หรือชุดขับเคลื่อนนั่นเอง ในยุคแรกของกราเวลไบค์ ชุดเกียร์สำหรับกราเวลไบค์ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะออกลูกไหนแน่ จะเป็นเสือภูเขาหรือเสือหมอบกันแน่ ช่วงแรกๆ จึงกลายเป็นลูกผสม มีทั้งใช้จานหน้าและชิฟเตอร์ของเสือหมอบ โดยใช้ตีนผีและเฟืองของเสือภูเขา หรือบางทียกชุดของเสือหมอบมาใช้ทั้งชุดเลยก็มี แต่ก็ไปได้ในบางสถานการณ์ เพราะไม่เหมาะต่อการบุกตะลุยเข้าป่า และทางขรุขระ แต่ก็เป็นทางเลือกของคนที่ต้องการเปลี่ยนสไตล์ในแบบประหยัดงบประมาณ

สำหรับคนที่ต้องการจักรยานกราเวลไบค์ทั้งตัวและหัวใจ การใช้ชุดเกียร์ที่ออกแบบมาเฉพาะกราเวลไบค์แท้ๆ ก็มีหล่อ และความเหมาะสมมากกว่า เพราะไม่ใช่แค่เพียงหน้าตาและรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากเสือหมอบ แต่รวมไปถึงความบึกบึนแข็งแรงด้วย โดยในปัจจุบันชุดเกียร์สำหรับกราเวลไบค์ก็มีเลือกทั้ง Shimano คือ GRX และ SRAM คือ XPLR ส่วนค่ายทางเลือกอย่าง microSHIFT ก็น่าสนใจ เพราะล่าสุดเพิ่งออกรุ่น SWORD ที่ทำมาเพื่อกราเวลไบค์โดยเฉพาะด้วยเหมือนกัน

2 in 1 Bike

คนที่มีเสือหมอบ Road Bike อยากจะไปขี่ลุยป่า เข้าแทรคก็ต้องบอกว่าหมดสิทธิ์ แต่ถ้าใครมีกราเวลไบค์แล้วต้องการไปปั่นทางเรียบด้วยก็สบายๆ ได้เลย แค่เปลี่ยนเป็นยางทางเรียบก็จบ เรียกได้ว่าเป็น 2 in 1 Bike … แต่จริงๆ มันก็มีเงื่อนไขอยู่บ้าง คือ ต้องใส่ยางที่เหมาะสมกับล้อ เพราะอย่างที่บอกว่า เราสามารถนำอุปกรณ์และชุดเกียร์จากเสือหมอบมาใส่กับเฟรมกราเวลไบค์ได้ทันที ยกเว้นแต่ล้อที่จะต้องพิจารณาก่อน เนื่องจากล้อของเสือหมอบ Road Bike นั้น ออกแบบมาเพื่อใช้กับยางขนาด 20mm.-32mm. (700c) แต่สำหรับกราเวลไบค์นั้น เราจะใส่ยางขนาด 700x32mm. ขึ้นไป และล้อกราเวลไบค์นั้นต้องมีความแข็งแรงทุกชิ้นส่วน ตั้งแต่ ดุมล้อ ขอบล้อ ซี่ลวด และวิธีการขึ้นซี่ลวดด้วย เพื่อรองรับกับความสมบุกสมบันในการปั่นลุยป่าและผ่านอุปสรรคต่างๆ ซึ่งล้อที่ออกแบบมาสำหรับกราเวลไบค์โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ก็มีหลายๆ ค่ายผลิตมาแล้ว เช่น Shimano GRX, DT Swiss GRC และ Reserve GR เป็นต้น

กราเวลไบค์ในปัจจุบัน เป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยเราเองความนิยมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากงาน “Dustman” The Gravel Journey ซึ่งเป็นการแข่งขันสำหรับกราเวลไบค์โดยเฉพาะ แต่ถ้าคุณยังไม่เคยลองสัมผัสกราเวลไบค์ ก็สามารถติดต่อตัวแทนจำหน่ายของ Bike Zone และตามร้านจักรยานชั้นนำ ก็ไม่แน่ว่าคุณเองก็อาจจะหลงรัก Gravel Bike เหมือนพวกเราหลายๆ คน

blog-s