21 / 03 / 2024
10 วิธี + 1 เคล็ดลับ ช่วยทำให้คุณปั่นจักรยานได้เร็วขึ้นอย่างเห็นผล

10 วิธี + 1 เคล็ดลับ ที่จะทำให้คุณปั่นจักรยานได้เร็วขึ้นอย่างเห็นผล

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักปั่นจักรยานประเภทไหน สิ่งหนึ่งที่ทำให้การปั่นจักรยานของคุณสนุกมากขึ้น ท้าทายยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นตัววัดว่าเราแข็งแรงมากขึ้นแค่ไหน และในการแข่งขัน นี่คือการตัดสินแพ้ชนะ และสิ่งนั้นก็คือ “ความเร็ว” แต่จะทำยังไง เรามี 10 วิธี และอีก 1 เคล็ดลับ ที่จะช่วยทำให้คุณปั่นจักรยานได้เร็วขึ้นมาแนะนำ พร้อมแล้วก็ตามมาเลยครับ

1. ความสะอาดและตรวจเช็คจักรยาน

การล้างทำความสะอาดและตรวจเช็คจักรยาน นอกจากทำให้จักรยานดูดี น่าปั่น ยังช่วยทำให้เห็นถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ว่ามีจุดใดบ้างที่ชำรุดเสียหาย ผมไม่ได้บอกว่าจักรยานที่สะอาดไร้ฝุ่นจับ จะทำให้คุณปั่นได้เร็วกว่าเดิม แต่ตรงกันข้ามจักรยานที่ขาดการดูแล ขาดการตรวจเช็คและล้างทำความสะอาดในส่วนต่างๆ ซึ่ง โซ่และเฟืองที่เต็มไปด้วยขี้ดินเม็ดทราย ลูกกลิ้งตีนผีอัดแน่นไปด้วยคราบจาระบีเก่าและโคลนเหนียว จุดหมุนต่างๆ เช่น ดุมล้อ กะโหลก และบันไดที่หมุนฝืด ชิพเตอร์ที่ค้างอยู่บ่อยๆ เกียร์ที่เข้าไม่แม่น เหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นตัวบั่นทอนความเร็ว ส่งผลให้ต้องออกแรงปั่นมากกว่าเดิม เผลอๆ ต้อเสียอารมณ์กับอุปกรณ์ที่หมดสภาพ โดยถ้าเป็นไปได้ก็ควรมหมั่นตรวจเช็ค ล้างทำความสะอาดจักรยานของคุณอยู่เสมอๆ อย่างน้อยก็เดือนละ 1-2 ครั้ง

2. หมั่นฝึกซ้อม

พละกำลัง คือ สิ่งที่ต้องใช้ในการปั่นจักรยาน โดยหลักการพื้นฐานของการปั่นจักรยาน ความเร็วที่เพิ่มขึ้นมี 2 ตัวแปร คือ การใช้เกียร์ที่หนักขึ้น กับ จำนวนรอบขาที่เร็วขึ้น ในระยะเวลาที่นานขึ้น อธิบายได้ง่ายๆ คือ ยิ่งคุณมีแรงมากขึ้น คุณก็สามารถใช้เกียร์ได้หนักขึ้น และการที่คุณสามารถควงขาได้เร็วขึ้นในเกียร์หนักขึ้น คุณก็ได้ความเร็วเพิ่มขึ้น และสุดท้ายคือเมื่อใช้คุณสามารถใช้เกียร์ได้หนักขึ้นและควงขาได้เร็วในระยะเวลาที่นานขึ้น ความเร็วต่อระยะทางก็ได้เพิ่มตามมา ซึ่งเป็นสมการที่ใช้ได้เสมอไม่ว่าจะยุคไหน พ.ศ. ไหน ดังนั้นการฝึกซ้อมตามโปรแกรมแบบ Interval Training แบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป คือสิ่งสำคัญในพัฒนาร่างกายของคุณให้มีพละกำลังอย่างเห็นผลในอนาคต

3. ใช้จักรยานและอุปกรณ์ที่ดีขึ้น

จักรยานที่ใช้สำหรับการแข่งขันกับจักรยานที่ใช้ออกกำลังกายทั่วไป ต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ จักรยานและอุปกรณ์สำหรับการออกกำลังกายทั่วไป ทั้งเสือหมอบและเสือภูเขา มักมีน้ำหนักมาก เพราะใช้วัสดุเกรดลดทอนลงมา ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งาน แต่จักรยานสำหรับนักกีฬาและนักปั่นที่จริงจังทำมาเพื่อการแข่งขัน จะมีน้ำหนักที่เบา ใช้วัสดุเกรดสูง เช่น คาร์บอนเกรด High Modulus  ซึ่งเบาแต่แข็งแรง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ ทำจากวัสดุชั้นดี มีน้ำหนักเบาแต่ความแข็งแรง มีการใช้เทคนิค Butted รีดท่อให้หนา-บางต่างกัน มีการใช้ตลับลูกปืนเซรามิคที่มีค่าความกลมเป็นพิเศษ หรือมีการใช้ชิ้นส่วนไทเทเนียมเพื่อลดน้ำหนักแต่แข็งแรง ทนทาน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เมื่อนำมาประกอบกัน ก็ทำให้จักรยานมีน้ำหนักที่เบาขึ้น มีความลื่นไหลมากขึ้น เราจึงออกแรงน้อยลง และจักรยานตอบสนองได้ไวขึ้นนั่นเอง

4. เลือกใช้ยางให้ถูกต้องและเติมลมยางให้เหมาะสม

ยางนอกสำหรับจักรยานมีหลายเกรด สำหรับการใช้งานทั่วไปก็เน้นทนทานเข้าว่า หนาและหนักไม่เป็นไร เพราะไม่ได้เน้นทำความเร็วอยู่แล้ว รุ่นสูงถัดมา คือยางที่ใช้เพื่อการฝึกซ้อมซึ่งมีน้ำหนักที่เบาขึ้น ดอกและลายหน้ายางมีให้เลือกมากขึ้น มีทั้งขอบพับและขอบลวด แต่ถ้ายางระดับแข่งขัน มีการใช้เส้นใยและส่วนผสมชนิดพิเศษ ใส่เทคโนโลยีต่างๆ เข้าไป เช่น กันรั่ว กันหนาม โครงสร้างแก้มยางที่แข็งแรง รวมถึงหน้ายางลดแรงเสียดทาน ส่วนการเติมลมยางให้แข็งขึ้นเราก็ไปได้เร็วขึ้น เพราะพื้นผิวสัมผัสกับถนนน้อยลง ในทางกลับกัน ลมยางที่อ่อนก็ช่วยทำให้ยางยึดเกาะกับผิวถนนมากขึ้น ซึ่งใช้ในกรณีที่ฝนตก ถนนลื่น แต่ที่สำคัญคือต้องไม่ให้เกินหรือต่ำกว่าค่าที่กำหนดของยางเส้นนั้นๆ

5. ปั่นเป็นกลุ่ม

การปั่นเดี่ยว ปั่นคนเดียว เหมาะสำหรับคนที่ต้องการฝึกซ้อมตามโปรแกรม เพราะสามารถควบคุมจังหวะและความเร็วได้ตามต้องการ แต่ในวันที่ต้องการสนุกกับเพื่อนๆ ก็สามารถผลัดกันเป็นหัวลากได้ เพราะการปั่นตามกันในแบบเรียงเดี่ยวสามารถลดแรงต้านจากอากาศที่เข้ามาปะทะได้ถึง 27% และถ้าปั่นเป็นกลุ่มเปโลตองจะสามารถลดแรงต้านจากลมได้ถึง 35% (อ้างอิงจาก Dr. Bert Blocken ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศพลศาสตร์: Professor Engineering – Aerodynamics / Belgian / Prof. in United Kingdom & Belgium) ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ในการแข่งไตรกีฬา ทำไมการ Drafting หรือการปั่นหลบลมหลังคนข้างหน้าจึงเป็นข้อห้าม

 

6. เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ให้คล่อง

คนที่ปั่นจักรยานเป็นแล้ว มีความคุ้นเคยแล้ว ก็คิดว่าการปั่นจักรยานเป็นเรื่องง่ายๆ แต่กับบางคนที่ยังไม่คุ้นเคยอาจสร้างปัญหาใหญ่ เช่น จักรยานคันใหม่ใช้เกียร์ยี่ห้อใหม่ รุ่นใหม่ ยังไม่เคยใช้มาก่อน ก็อาจจะทำให้จังหวะในการเข้าเกียร์เกิดการผิดพลาดได้ แทนที่จะใช้เกียร์เบาเพื่อขึ้นเขากลับกลายเป็นเกียร์หนัก เสียจังหวะปั่นต่อเนื่องไม่ได้ ซึ่งการผิดพลาดในกรณีนี้ บางครั้งอาจเป็นอันตรายทั้งตัวนักปั่นและส่งผลทำให้จักรยานเกิดความเสียหาย เช่น โซ่ตก โซ่ขาด ตีนผีหัก เป็นต้น

7. เพิ่ม Level ในการควบคุมจักรยาน

คนที่ชอบปั่นเสือภูเขาสไตล์ครอสคันทรี่ การฝึกเรื่องเทคนิคและการควบคุมจักรยาน เป็นเรื่องจำเป็น ทั้งเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และเป็นการเพิ่ม Level ความสนุก เช่น การถ่ายน้ำหนักมาทางด้านหลังเมื่อต้องลงเนินชัน การฝึกทรงตัวในทางแคบ และกระโดดข้ามอุปสรรคเมื่อเจอกับรากไม้ ก้อนหิน และร่องน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นเทคนิคขั้นสูงที่จำเป็นต่อการขี่เสือภูเขาในสไตล์ครอสคันทรี่ เช่น การกระโดดข้าม (Bunny Hop) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยทำให้ประหยัดเวลาไปได้มาก เมื่อเทียบกับคุณต้องลงจากจักรยานแล้วยกข้ามอุปสรรคนั้นไป

8. การทำ Bike Fitting

การทำไบค์ฟิตติ้ง (Bike Fitting) พูดได้ว่าไม่จำเป็น! แต่เดี๋ยวก่อน…ถ้าคุณใช้จักรยานประเภทซิตี้ไบค์ จักรยานพับ จักรยานแม่บ้านอะไรทำนองนั้น Bike Fitting มันไม่จำเป็นจริงๆ !! เพียงแค่ปรับความสูงของเบาะ ให้นั่งปั่นได้สบาย ไม่นั่งงอเข่าเกินไป ไม่ยืดเหยียดขาเกินไป จับแฮนด์โดยไม่เอื้อมจนแขนตึง ใช้เบรกเพื่อให้หยุดได้อย่างไม่มีปัญหาเท่านั้นถือว่าเพียงพอ แต่สำหรับการปั่นเสือหมอบ เสือภูเขา จักรยาน Time Trial จักรยานไตรกีฬา โดยเฉพาะการจักรยานที่ต้องการประสิทธิภาพ มีการใช้รองเท้าคลีต และใช้เวลาปั่นนานๆ นั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องทำไบค์ฟิตติ้งเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดและในทุกๆ แรงกระทำที่ถ่ายทอดลงไปบนบันได และยังช่วยทำให้เราปั่นได้นานขึ้นโดยไม่เจ็บปวด เมื่อยล้าซึ่งอาจนำมาถึงการบาดเจ็บเรื้อรังในที่สุด อันเนื่องมาจากท่าทางและองศาของการวางมือวางเท้าและตำแหน่งหัวเข่าที่ผิดรูปเพราะฝืนสรีระร่างกายของคนๆ นั้นมากเกินไป

การวางท่าทางและการปรับตำแหน่งให้ถูกต้องกับจักรยาน นอกจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปั่น ยังช่วยทำให้คุณกับจักรยานผสานกันเป็นหนึ่งเดียวอีกด้วย

9. ลดน้ำหนักตัวคุณ

ปัจจุบันการใช้คาร์บอนไฟเบอร์ กลายเป็นวัสดุหลักในการทำเฟรมและล้อจักรยาน ด้วยเหตุผลคือคาร์บอนไฟเบอร์มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง โดยเฉพาะเฟรมคาร์บอนเกรดสูง (High-modulus) และอะไหล่ต่างๆ เช่น ล้อคาร์บอน ดุมคาร์บอน หลักอานและแฮนด์คาร์บอน รวมไปถึงชุดเกียร์ต่างๆ ที่มีน้ำหนักเบา ก็จะแลกมาด้วยราคาที่แพง และถ้าจักรยานของคุณเป็นรุ่นกลางๆ การจะอัพอะไหล่เพื่อลดน้ำหนักจักรยานอาจใช้เงินมากจนไม่คุ้ม โดยเฉลี่ยของการลดน้ำหนักจักรยานลง 1 กิโลกรัม อาจจะต้องใช้เงินมากกว่า 10,000 บาท ซึ่งน้ำหนักจักรยานที่ลดลงก็ไม่ได้มีผลในการเพิ่มความเร็วได้ชัดเจนในทางราบ (แต่สำหรับการปั่นขึ้นเขา ยิ่งน้ำหนักจักรยานเบามากเท่าไหร่ เราก็ใช้พละกำลังน้อยลงเท่านั้น) แต่ถ้าคุณลดน้ำหนักตัวเองลงได้ 1 กิโลกรัม จะเห็นผลชัดเจนกว่า เนื่องจากคุณฟิตขึ้น แข็งแรงขึ้น ทนทานขึ้น และที่สำคัญคือคุณจะมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

10. ปรับ Mind Set กระตุ้นแรงจูงใจ

“จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ประโยคนี้ยังใช้เสมอ แม้กับจักรยานก็เช่นกัน ถ้า mind set หรือความคิดเราบอกว่า “ไม่ไหว เราไปเร็วกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว” เมื่อความคิดสั่ง ร่างกายก็เหมือนจะยอมรับว่าเราไปได้แค่นี้จริงๆ แต่ถ้าเราพูดกับตัวเองว่าไปได้อีก “เร็วกว่านี้ได้อีก เราต้องชนะในแมทช์นี้ให้ได้” แม้ว่าร่างกายจะส่งเสียงร้องคร่ำครวญแค่ไหน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ Jens Voigt โปรนักแข่งจักรยานชาวเยอรมัน ลงแข่งในรายการ Tour de France เมื่อหลายปีที่แล้ว ขณะที่ร่างกายเหนื่อยล้า แทบหมดพลัง แต่การแข่งขันยังไม่จบ เขาพูดกับตัวเองว่า “Shut Up, Legs!” ซึ่งหมายถึง “เจ้าขาหยุดส่งเสียงร้องซักที แล้วทำตามที่ใจฉันสั่ง”

** เคล็ดไม่ลับ ** การแต่งกาย

การใช้ชุดจักรยานเหมาะสม นอกจากจะช่วยเรื่องของแอโร่ไดนามิค ลดการต้านลม บางชุดที่เป็นผ้าเนื้อดีจะช่วยทำให้เหงื่อเร็ว ไม่รู้สึกเปียกชื้นเหนอะหนะ อึดอัด แถมยังช่วยทำให้รู้สึกสบายตัว ส่วนกางเกงก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ Pad หรือเป้าที่รองรับ ก็จะช่วยทำให้คุณนั่งบนเบาะจักรยานได้นานขึ้น ลดทั้งอาการชาที่ก้นและอวัยวะสำคัญ ส่วนชุดเอื้ยม หรือ BiB ก็มีส่วนช่วยลดความน่ารำคาญของการม้วนขอบเอวไปได้มาก อีกอย่างคือ ชุดจักรยานตัดเย็บอย่างดี ผ้าเนื้อดี นอกจากใส่แล้วดูดี ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับคุณอย่างไม่น่าเชื่อ และเมื่อคุณมั่นใจอะไรก็หยุดไม่อยู่ !!

    blog-s